avatar เรื่องย่อ นับตั้งแต่ ‘Avatar’ (2009) หรืออวตารภาคแรกออกฉายเมื่อ 13 ปีที่แล้ว สิ่งนี้ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่ามันทำให้ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับ เจ้าของโครงเรื่อง ผู้เขียนบท กลายเป็นตัวพ่อผู้มีอิทธิพลในการผลักดันหนังสามมิติอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนจริง ๆ และผลจากการทำงานอย่างยาวนานตลอด 13 ปี ผลที่ได้ก็คือหนังภาคต่อ ที่ว่าด้วยเรื่องของโลกใต้น้ำของดาวแพนดอรา (Pandora) มาตุภูมิของชาวนาวี ใน ‘Avatar: The Way of Water’ ‘อวตาร วิถีแห่งสายน้ำ’ เรื่องนี้นี่แหละครับ
avatar เรื่องย่อ
avatar เรื่องย่อ ตัวเรื่องราวใน ‘The Way of Water’ จะห่างจากภาคแรก 10 ปีครับ เจค ซัลลี (Sam Worthington) อดีตนาวิกโยธินในร่างชาวนาวี ณ ตอนนี้กลายเป็นพ่อคนแล้ว เพราะหลังจากที่เธอรักกับ เนย์ทีรี (Zoe Saldana) ทั้งสองคนก็มีลูกด้วยกัน ทั้งลูกจริง ๆ อย่าง นาทายัม (Jamie Flatters) พี่ชายคนโต, โลอัค (Britain Dalton) น้องชายคนเล็ก, ตุกทีรี (Trinity Jo-Li Bliss) น้องสาวคนสุดท้อง รวมทั้งลูกบุญธรรมครึ่งคนครึ่งอวตารอย่าง คิริ (Sigourney Weaver) และ สไปเดอร์ (Jack Champion) เด็กมนุษย์แปลกแยกผู้ใช้ชีวิตเยี่ยงชาวนาวี ความแค้นจากภาคแรก ทำให้ซัลลีและเนย์ทีรีตกเป็นเป้าของ พันเอกไมล์ ควอริตช์ (Stephen Lang) ที่เคยโดนธนูของเนย์ทีรี ซัดม่องเท่งคาหุ่นยนต์ไปในภาคที่แล้ว (ไม่บอกหรอกนะครับว่ากลับมายังไง)
เป้าหมายของหน่วยงาน RDA (Resource Development Administration) เปลี่ยนจุดประสงค์จากการขุดหาแร่ ไปสู่การหาพื้นที่เพื่อให้มนุษย์ตั้งรกรากอาศัย ทำให้การรุกรานพื้นที่ของชาวนาวีบนดาวแพนโดรายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น พวกเขาก็เลยจำต้องย้ายอพยพไปอยู่ในดินแดนแห่งสายน้ำร่วมกับชนเผ่าทะเลที่เรียกว่า เม็ตคายีนา (Metkayina) ณ ที่นั้น โตโนวารี (Cliff Curtis) หัวหน้าเผ่า, โรนัล (Kate Winslet), ศิเรยา (Bailey Bass) และ อาวนุง (Filip Geljo) จึงต้องสอนครอบครัว ของซัลลีให้อยู่กับวิถีแห่งสายน้ำให้ได้ พร้อมกับต้องรับมือกับภัยคุกคามที่อันตรายยิ่งกว่าเดิม
สิ่งที่ต้องชื่นชมอย่างแน่ ๆ แบบที่ไม่ต้องเดาอะไรให้วุ่นวายก็คงหนีไม่พ้นวิสัยทัศน์ของ เจมส์ คาเมรอน นั่นแหละครับ เพราะว่าปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การผลักดันเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพสามมิติในภาคนี้นั้นไปไกลกว่าภาคแรก และไกลกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ไปไกลมาก โดยเฉพาะงานวิชวลเอฟเฟกต์ที่เรียกว่าหาจุดโป๊ะได้ยากจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่เหมือนจริง แต่มันสมจริงสุด ๆ ในทุกรายละเอียด ตั้งแต่ผืนน้ำ สัตว์ใต้น้ำ ปะการัง พืชทะเล ที่สวยตื่นตาตั้งแต่ช็อตแรกจนถึงช็อตสุดท้าย ทั้งการทำ Motion Capture ใต้น้ำที่ทำให้ชาวนาวีสามารถดำดิ่งในน้ำได้อย่างเป็นธรรมชาติและพลิ้วไหวอย่างกับไปถ่ายทำในทะเลจริง ๆ อย่างไรอย่างนั้น
รวมทั้งการถ่ายทำด้วยเทคโนโลยี High Frame Rate (HFR) ที่ในหนังจะใช้เฟรมเรต 2 แบบสลับกันไปนะครับ คือในฉากที่แอ็กทีฟเยอะ ๆ อย่างเช่นฉากแอ็กชัน ฉากบิน ฉากวิ่ง ก็จะใช้ Frame Rate ที่ 48 เฟรมต่อวินาที ส่วนฉากอื่น ๆ ก็จะกลับมาใช้ 24 เฟรมตามปกติ เพื่อให้ยังคงอารมณ์ความเป็น Cinematic ของหนัง ซึ่งอาจจะทำให้ความลื่นของภาพดูไม่สม่ำเสมอบ้าง แต่ในแง่ฟังก์ชันก็ถือว่าได้ผลและไม่ได้ถือว่าน่ารำคาญตารำคาญใจอะไร ยิ่งถ้าดูในระบบสามมิติจะยิ่งเห็นความแตกต่างเลยครับว่ามันไม่ใช่แค่ภาพเด้งป๊อปอัปเฉย ๆ แต่มันมีความลึก ความโค้งนูน ความคม สีสันที่สมจริงซะจนบางทีผู้เขียนยังแอบสะดุ้ง โดยเฉพาะซีนที่เป็น 48 เฟรมนี่คือลื่นหูตาแตกไปเลย
และเทคโนโลยี HDR (High Dynamic Range) ที่ช่วยให้ขอบเขตสีและคอนทราสต์ แสงและเงาที่คมชัดลึกยิ่งขึ้นกว่าเดิม ถ้าเทียบกับระบบสามมิติในภาคแรก จะเห็นเลยว่ามันแตกต่างจากภาคแรกเยอะมาก รวมทั้งงานวิชวลเอฟเฟกต์ที่จะนับว่าเป็นที่สุดของวงการหนังโลกไปเลยก็ได้ เพราะนอกจากจะสวยงาม และมีความครีเอทีฟในการออกแบบทั้งพาร์ตธรรมชาติ ระบบนิเวศใต้ทะเล สัตว์น้ำ หรือแม้แต่พาร์ตเทคโนโลยีของ RDA ก็ตาม จะบอกว่าคาเมรอนได้เนรมิตโลกใบใหม่ขึ้นมาอันนี้ก็ถือว่าไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะมันไม่ใช่แค่สวย ไม่ลอยเฉย ๆ แต่มันสมจริงและเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ชวนให้ตื่นตา ชนิดที่บรรดาหนังซูเปอร์ฮีโรยุคนี้ควรศึกษางานอย่างเร่งด่วน
วิสัยทัศน์อีกอย่างของลุงคาเมรอนก็คือเรื่องของบทครับ ในขณะที่ภาคแรกนั้นมีความเป็นการเมื้องการเมือง ด้วยเรื่องเล่าในประเด็นเกี่ยวกับการล่าอาณานิคม การแย่งชิงทรัพยากร การสู้รบกับชนพื้นเมือง ฯลฯ แต่ในภาคนี้ ด้วยความที่เรารู้จักชาวนาวีมาตั้งแต่แรก ตัวหนังก็เลยเปิดเรื่องเร็ว ๆ และหันไปโฟกัสที่ครอบครัวของซัลลีและเนย์ทีรีแทน โทนของตัวหนังก็เลยมีความเป็นหนังครอบครัว กึ่ง ๆ หนังชีวิตวัยรุ่นว้าวุ่นของเหล่าบรรดาลูก ๆ ที่ต่างก็มีปมปัญหาแตกต่างกันไป จากการที่มีทั้งลูกครึ่งอวตารแท้ ๆ ลูกครึ่งอวตารไม่แท้ ไหนจะลูกมนุษย์แท้ ๆ ที่อยากเป็นชาวนาวีอีก จนพวกเขาเองต้องมาอยู่อาศัยตามวิถีแห่งสายน้ำ รวมทั้งต้องร่วมต่อสู้กับหน่วย RDA ที่คราวนี้ดูจะมุ่งหมายไปที่ครอบครัวซัลลีเป็นพิเศษ ที่ตัวหนังสามารถเล่าออกมาได้อินและทัชใจมากยิ่งขึ้น เสมือนว่าเราเองก็รู้สึก “I See You.” ไปกับพวกเขาด้วยเหมือนกัน
แนวทางเรื่องราวของตัวหนังในภาคนี้ ก็ยังคงยึดแนวทางจากภาคแรกครับ นั่นก็คือการวางตามแบบฉบับหนังบล็อกบัสเตอร์ดี ๆ เรื่องหนึ่ง ที่มีครบทุกอารมณ์ ทั้งความน่ารัก ความตื่นตาตี่นใจ มีอารมณ์ขันแทรกเล็ก ๆ มีจังหวะเขย่าขวัญหน่อย ๆ มีประเด็นดราม่าขัดแย้งครอบครัว สังคม อุดมการณ์ และปิดจบที่งานแอ็กชันสุดมันที่ใส่มาจัดเต็มแบบยาว ๆ ทั้งหมดนี้ห่อหุ้มด้วยเนื้อเรื่องและพล็อตแนวหนังครอบครัว ที่ห่อหุ้มอยู่ในแพ็กเกจหนังไซไฟแฟนตาซีอีกที โดยเฉพาะการโฟกัสไปที่ดราม่าครอบครัวที่มาครบเลย ทั้งความรู้สึกแปลกแยก ความรู้สึกรักลูกไม่เท่ากัน การเอาลูกเขามาเลี้ยงเหมือนเอาเมี่ยงเขามาอม การเป็นคนแปลกหน้าในที่แปลกถิ่น มุมมองความรักของพ่อแม่และลูกที่แตกต่างกัน แต่ล้วนแล้วทำไปด้วยเจตนาห่วงใย ฯลฯ ทำให้หนังในภาคนี้ก็ยังคงมีเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อน และเอาจริง ๆ ก็พอจะเดาเนื้อเรื่องออกได้แบบง่าย ๆ เลย แต่มันก็มีประโยชน์ในแง่ของการให้ความบันเทิงแบบครบรส ดูได้ทั้งครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องห่อหุ้มด้วยพล็อตไฮคอนเซปต์จัด ๆ หรือหักมุมพลิกหลายตลบ..
แต่แม้ว่ามันจะเป็นหนังที่บันเทิงจ๋า ๆ แค่ไหน แต่จริง ๆ ก็ยังมีจุดที่เนือย ๆ อยู่ ด้วยความยาวมากกว่า 3 ชั่วโมง 12 นาที ส่วนตัวผู้เขียนเองยอมรับว่าเกิดอาการเหมือนหลุดจากหนังไปชั่วครู่ใหญ่ ๆ เลยครับ โดยเฉพาะตอนที่หนังโชว์ฉากใหญ่ ๆ มันให้ความรู้สึกเหมือนว่ากำลังดูสัตว์น้ำในอะควาเรียม และบางช่วงก็ดูคล้ายกับช็อตในสารคดีสัตว์ทะเลอยู่เหมือนกัน ถ้าเอาแง่ดีก็คือ มันเหมือนจริงขั้นสุดแบบ Hyper-Realistic คือเหมือนจริงจนกลายเป็นของจริงไปแล้ว แต่พอมันเป็นหนัง ก็ถือว่ากราฟความสนุกเกิดอาการตกท้องช้างอยู่พอสมควรเหมือนกันนะ ยังดีที่งานภาพที่สวยเนียนเพลินตายังพอช่วยให้ไม่รู้สึกเนือยเบื่อจนชวนให้ทอดถอนใจ และส่วนตัวผู้เขียนแอบเสียดายนิด ๆ ที่ได้เห็นพิธีกรรมหรือ Know-How ของชาวเผ่าในแบบที่เคยได้เห็นในภาคแรกน้อยไปสักนิด ทั้งที่มีเวลาเหลือเฟือขนาดนั้น
อีกอย่างที่ต้องไม่ลืมก็คือ ‘Avatar’ มันไม่ใช่หนังเดี่ยว แต่มันเป็นแฟรนไชส์หนัง 5 ภาคนะครับ แม้ว่าหนังภาคนี้จะสอบผ่านในแง่บันเทิง แต่ถ้ามองโดยรวม ๆ ก็จะพบว่า ทั้งสองภาคนั้นมีแนวทางและแกนเรื่องที่คล้ายกันมาก ๆ เลย ซึ่งจริง ๆ มันก็ไม่ได้เป็นแก่นเรื่องและ Conflict ที่ใหม่สำหรับยุคนี้แล้วซะด้วย มันเป็นพล็อตที่ได้แรงบันดาลใจจากสื่ออื่น ๆ ของฮอลลีวูดที่มีมาก่อนแล้วทั้งนั้น ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่า คาเมรอนเองก็กำลังดูกระแสภาคนี้อยู่ เพราะถ้าหากรายได้ไม่ถึงเป้า ลุงแกก็เตรียมทำหมันแฟรนไชส์ไว้ที่ 3 ภาคถ้วน ซึ่งในความคิดของผู้เขียนจริง ๆ มันก็สามารถมีโอกาสไปถึงภาค 5 ได้ล่ะนะครับ โดยเฉพาะงานด้านโปรดักชันที่ผู้เขียนเชื่อว่ายังพอจะมีช่องให้ดันมาตรฐานขึ้นไปได้อีก
และเนื้อเรื่องของดาวแพนดอรา ที่จริง ๆ แล้วก็กลายเป็นจักรวาลย่อย ๆ ไปแล้วล่ะ สามารถต่อยอดและหยิบประเด็นเอามาเล่นและเสนอได้อีกเยอะมาก แต่ถ้าคาเมรอนเองยังยืนยันแนวทางตามพล็อตย่อยง่ายทำนองนี้ไปเรื่อย ๆ มันก็อาจจะมีความเสี่ยงที่อาจจะไปไม่ถึงฝันได้อยู่เหมือนกัน แต่ผู้เขียนเองก็เชื่อลึก ๆ ว่าคาเมรอนคงไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่ ๆ แต่จะไปถึง 5 ภาคได้จริงตามฝันไว้ไหม คงต้องให้คนดูตัดสินกันที่ภาคนี้ล่ะครับว่า พล็อตบันเทิงจ๋า ๆ กับงานภาพสามมิติสุดอลังการ จะยังคงมีมนต์เสน่ห์มากพอที่จะดึงดูดคนให้ยอมเสียเงินค่าตั๋วแพง ๆ เดินทางไปดูหนังในโรง (แทนที่จะรอดูผ่านสตรีมมิงที่บ้าน) ได้มากแค่ไหน และจะสร้างปาฏิหาริย์หนึ่งในล้านแบบที่ภาคแรกทำได้อีกครั้งหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ‘Avatar: The Way of Water’ ก็เป็นหนังที่ผู้เขียนนั่งยันนอนยันว่า ยังไงก็ต้องไปดูในโรงนะครับ โอเค มันอาจเป็นหนังพล็อตง่าย ๆ ที่ไม่ได้ซับซ้อนจนต้องร้องโอ้โห แต่ยังไงมันก็เป็นหนังที่สนุกและให้ความบันเทิงได้ครบตามแบบฉบับคาเมรอนจริง ๆ นั่นแหละ แล้วก็เป็นเหมือนกึ่ง ๆ บทพิสูจน์ด้วยว่าคาเมรอนคือเจ้าพ่อหน้งภาคต่อจริง ๆ มันเป็น 13 ปีที่ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการ และวิวัฒนาการของงานด้านภาพและโปรดักชันที่ให้ความบันเทิงได้เหนือขึ้นไปอีกขั้นจริง ๆ ยิ่งถ้าดูในระบบ IMAX3D ที่ฉายผ่านเครื่อง IMAX with Laser จะยิ่งให้ประสบการณ์การดูหนังที่เติมเต็มสุด ๆ เป็นประสบการณ์ภาพยนตร์แห่งปีที่ต่อให้รอดูสตรีมมิงที่บ้านได้ แต่ถ้าพลาดไปก็น่าเสียดายอยู่นะ
จุดเด่น
- งานภาพสามมิติและเทคโนโลยีด้านภาพที่ยกระดับขึ้นอย่างมหาศาล ภาพสวยสมจริง
- งาน VFX สมจริงและเต็มไปด้วยรายละเอียดอย่างมาก หาจุดลอยแทบไม่เจอจริง ๆ
- พล็อตดูง่ายสไตล์หนังบล็อกบัสเตอร์ มีครบทั้งดราม่า แอ็กชัน ผจญภัย ไซไฟ
- ประเด็นเรื่องครอบครัวทัชใจมาก มีทั้งน่ารัก ความขัดแย้ง มีทั้งสุขและเศร้าผ่านตัวละครที่มีมิติ
จุดสังเกต
- ความยาวหนังมีบางจุดที่ไม่เชิงอืด แต่มีความเนือย ๆ อยู่ประปราย
- ตัวบทยังเดาบทสรุปง่ายเหมือนภาคแรก ตามสูตรสำเร็จหนังบล็อกบัสเตอร์
- ตัวร้ายภาคนี้ดูกลมกว่าภาคแรกขึ้นมานิดหน่อย avatar เรื่องย่อ